อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่
ความเป็นมา
เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ.2549 และทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2546 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (พื้นที่ 468 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 รวม 92 วันภายใต้ชื่อ “มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 “ ซึ่งเป็นงานที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
จากความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่ได้รับการตอบรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้ามาบริหารจัดการและใช้ประโยชน์พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 มีภารกิจหลักในการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้พืชสวนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย
สำหรับการตั้งชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์นั้น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีลายพระหัตถ์ ขอพระราชทานชื่อสวนซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “สวนหลวงราชพฤกษ์” ต่อมาท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนดังกล่าวว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์ และได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า “Royal Park Rajapruek” ชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์ หมายถึง สวนของพระมหากษัตริย์
ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน (ลมแล้ง ภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ) นั้น ได้รับการยกให้เป็น ดอกไม้ประจำชาติไทย และด้วยชื่ออันเป็นมงคลยิ่ง (ราชพฤกษ์ : ต้นไม้ของพระราชา) ประจวบเหมาะกับงานพืชสวนโลก “เฉลิมพระเกียติ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้จัดในสถานที่นี้ ชื่อดอกราชพฤกษ์จึงถูกใช้เป็นชื่อของอุทธยานหลวงแห่งนี้นั่นเอง
อุทยานหลวงราชพฤกษ์
ตระการพรรณพฤกษาแหล่งล้ำค่าแห่งการเรียนรู้
Royal Park Rajapruek
Fascinating Flora, an oasis of Learning
หอคำหลวง
“หอคำหลวง” เป็นส่วนแสดงสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในงาน เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุด เพื่อจัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นกษัตริย์นักการเกษตรเอกของโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ที่ทรง อัจฉริยภาพและ ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก ภายใต้แนวคิดว่า “พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย” นั่นคือที่มาของอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา “หอคำหลวง” โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานคณะอนุกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ“หอคำหลวง”
หอคำหลวง สถาปัตยกรรมล้านนาที่สง่างาม เป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าบนเนินดิน พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ท่ามกลางเนื้อที่กว่า 470 ไร่ ของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สองข้างทางเดินสู่หอคำหลวงเต็มไปด้วยสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ ส่งให้หอคำหลวง เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดอีกทั้งตระการตากับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ประดับตกแต่งในบริเวณเสาซุ้ม ซึ่งออกแบบได้สวยงามตามอย่างสถาปัตยกรรมล้านนาแท้ ๆจำนวนมากถึง 30 ซุ้ม
หอคำหลวง ที่งดงามตระการตานี้ ผ่านกระบวนการคิด การออกแบบ จากช่างสิบหมู่พื้นบ้านล้านนานับสิบคน ถ่ายทอดผลงานอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา ให้งามสง่าท่ามกลางงาน มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 และหนึ่งในทีมงานสร้างครั้งนี้มี คุณรุ่ง จันตาบุญ หรือ ช่างรุ่ง สล่าล้านนา ผู้ชำนาญการด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นล้านนา เมื่อครั้งที่ได้รับมอบหมายให้คิดและออกแบบก่อสร้างอาคารสำหรับแสดงนิทรรศการ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติมายาวนานถึง 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ทำให้นึกถึง หอคำหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าเมืองเชียงใหม่ และพระราชวงศ์เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ในอดีตจึงคิดที่จะสร้างหอคำหลวง ขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นศูนย์กลางจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงเป็นสถาบันสูงสุดที่คนไทยเคารพรักเทิดทูน
>>ค้นหาโรงแรมที่พักในเชียงใหม่<<
สำหรับจุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมล้านนาหลังนี้คือ
วิหารซด (หลังคา) ซึ่งจะซ้อนเกยกันตามลักษณะของการก่อสร้าง หอคำหลวง เช่นในอดีต นอกจากนี้ วิหารซด ยังเป็นสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกถึงความเป็นที่ประทับของกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถปลูกสร้างเรือนเช่นนี้ได้ คือ มีหน้า 3 หลัง 2 โดยที่โครงสร้างของวิหารจะไม่ใช้ตะปูในการยึดติด แต่จะใช้ลิ่มสลักให้ไม้เชื่อมติดกันโดยที่ไม่หลุด เรียกว่าขึ้น ม้าต่างไหม การขึ้น ม้าต่างไหม นั้น โดยช่างจะนำท่อนไม้มาเรียงซ้อนต่อตัวกันสามระดับ (รูปทรงคล้ายปิรามิด) และจัดวางให้สมดุลกัน โดยมีการลดหลั่นของหลังคาจากห้องประธานลงมาทางด้านหน้าและด้านหลัง เป็นชั้นเชิงที่สวยงาม มีเสาไม้ขนาดใหญ่เป็นขารองรับน้ำหนัก ซึ่งเสาไม้นี้ก็มีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า เสาหลวง โดย เสาหลวง นั้นมีลักษณะทรงกลม ทาพื้นสีดำ และเขียนลวดลายรดน้ำปิดทองตลอดทั้งต้น
หมายเหตุ : ที่มาของชื่อนี้ “ม้าต่างไหม” มาจากลักษณะการบรรทุกผ้าไหมบนหลังม้าไปขาย ของพ่อค้าม้าในล้านนา (ต่าง แปลว่า บรรทุก) ส่วนที่เป็นหลังคาก็ใช้ ดินขอ (กระเบื้องดินเผา) มามุง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถรื้อถอนนำไปประกอบใหม่ได้
นอกจากโครงสร้างของตัววิหารแล้ว สิ่งที่น่าชมอีกอย่างคือ สิ่งละอันพันละน้อยที่ประดับอยู่ตามตัววิหาร ได้แก่ ช่อฟ้า ซึ่งอยู่เหนือจั่วของวิหารจะมีรูปแกะสลักนกการเวกประดับอยู่ นกการเวกเป็นสัตว์ในวรรณคดีมีปากเป็นจะงอยสวยงามมาก
นาคทัณฑ์ หรือ คันทวย ซึ่งเป็นไม้ค้ำยัน ช่างแกะสลักเป็นรูปนกหัสดีลิงค์สวยงามและอ่อนช้อยมาก ผู้รักในงานศิลปะต้องไปชมด้วยตาตนเอง
หน้าบัน (หน้าแหนบ) ของหอคำหลวงนั้นจะมีการตกแต่งที่สวยงามเป็นพิเศษ ซึ่งในส่วนนี้จะแตกต่างจาก เรือนไทยภาคกลางคือ บริเวณที่ต่ำลงมาจากหน้าบัน จะเป็นแผงเรียกว่า คอกีด ซึ่งช่างได้แกะสลักลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงามประดับประดาไว้ มีทั้งลวดลายดอกไม้ ลายประจำยาม รูปสัตว์ต่าง ๆ สุดแท้แต่จินตนาการของช่างสกุลล้านนา
โก่งคิ้ว คือส่วนที่ต่ำจากคอกีดลงมา เรียกว่ามีลักษณะคล้ายกับสาหร่ายรวงผึ้งของภาคกลาง ส่วนด้านข้างที่เป็นปีกนกก็มีการแกะสลักลวดลายไว้อย่างสวยงามเช่นเดียวกับบริเวณหน้าบัน ที่กล่าวมาในตอนต้นเป็นเพียงความงามของตัวอาคารหอคำหลวงเท่านั้น ถ้าใครมีโอกาสมาเห็นด้วยตาตนเองจะสังเกตเห็นว่าบริเวณโดยรอบอาคารหอคำหลวงนั้น
ยังมีความงดงามตระการตารอให้ชมอยู่อีกมากมาย ผลงานแต่ละชิ้นตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบอาคารหอคำหลวง อันได้แก่ ปราสาทเฟื่องโคมไฟ ผลงานปูนปั้นที่ต้องการสื่อถึงความสว่างไสวโชติช่วง พุ่มหม้อดอก ที่สื่อถึงความจงรักภักดี หรือแม้แต่รูปปั้นยักษ์ หรือ ช้างที่ยืนเฝ้าหอคำหลวงก็ยังมีหลากหลายอริยาบท
ภายในอาคารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสองส่วนคือ
ชั้นบน จะจัดให้เป็นหอเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในจัดให้มีการแสดงจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนาบอกเล่า เรื่องราวของพระองค์ท่าน อันเป็นพระราชกรณียกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตรงกลาง ห้องโถง กำหนดให้มีการสร้างต้นโพธิ์ทอง หรือ ต้นบรมโพธิสมภาร ประกอบด้วย ใบทั้งหมด 21,915 ใบ เป็น ต้นไม้แห่งทศพิธราชธรรมที่ใบมีการดูนอักษรนูนต่ำที่มีคำที่เป็นธรรม 10 ประการ เป็นภาษาบาลี อันหมายถึง ทศพิธราชธรรม อันเป็นธรรมะที่พระองค์ท่านยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้เหล่าพสกนิกรอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมีตราบเท่าปัจจุบัน
ชั้นล่าง เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในเหตุการณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 และ ปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และโครงการพระราชดำริเต็มรูปแบบสามมิติทั้ง แสง สี และ เสียง อลังการ แบ่งเป็น 9 โซน จัดแสดง
ผู้ควบคุมการออกแบบ
นายรุ่ง จันตาบุญ สถาปนิกจากบริษัทช่างรุ่งคอนสตรัคชั่นจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ มีผลงานการปลูกสร้างอาคารสถาปัตยกรรมล้านนามานานนับสิบปี ผลงานกล่าวขานในวงการช่างสกุลล้านนามากมาย อาทิ
– วิหารหลวงวัดป่าดาราภิรมย์พระอารามหลวงวรวิหาร
– วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
– หออินทขิลเสาหลักเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
– งานบูรณะพระตำหนักเจ้าดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ออกแบบจิตกรรมฝาผนัง
อาจารย์ปรีชา เถาทอง ที่ปรึกษาโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ และศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรมปี พ.ศ. 2522
กิจกรรมน่าสนใจตลอดทั้งปี
เทศกาลชมสวน (พฤศจิกาย-กุมภาพันธ์) นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ประจำปี ชมความงามของไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิดพร้อมใจกันเบ่งบานงดงามเต็มสวนให้ได้ชื่นชมและประทับใจกันตลอดงาน
ปี๋ใหม่เมืองดอกเอื้องงาม (เมษายน) ชมเสน่ห์ดอกเอื้องเมืองเหนือ ซึ่งเป็นไฮไลทืประจำเดือนเมษายน ที่จะบานให้ชมเพียงปีละหนึ่งครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศสงกรานต์ล้านนา
ชมสวนฤดูฝน (สิงหาคม) เพลิดเพลินไปกับทุ่งดอกปทุมมา นับว่าเป็นแห่งเดียวที่ได้รวบรวมปทุมมาหลากหลายสายพันธุ์มาจัดแสดงให้ได้ชมมากที่สุดในภาคเหนือ
มหัศจรรย์โลกของเด็ก (กันยายน) เรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียนที่สร้างสรรค์ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จุดน่าสนใจที่ไม่ควรพลาดในอุทยานหลวงราชพฤกษ์
หอคำหลวง สถาปัตยกรรมแบบล้านนาอันวิจิตรตระการตาอยู่ใจกลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เปรียบเสมือนประตูหลักที่สำคัญของการเยือนถิ่นวัฒนธรรมล้านนา
สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ แสดงวิถีชีวิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริในรูปแบบการดำรงชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เรือนไม้ดอก ที่ได้ผสมผสานการจัดแสดงไม้ดอกเมืองหนาวให้นักท่องเที่ยวได้ชมไม้ดอกเมืองหนาวได้ตลอดทั้งปี
เรือนร่มไม้ ร่มรื่น ชื่นชม ดุจเป็นสวรรค์แห่งพันธุ์ไม้ร่มชื่น
โดมไม้เขตร้อนชื้น แหล่งรวบรวมเฟิร์นโบราณ พันธุ์ไม้หายาก แวะทักทายเจ้าไดโนเสาร์ใจดี
โลกแมลง ศูนย์กลางการเรียนรู้การค้นหาความมหัศจรรย์ และพฤษติกรรมแปลกๆของแมลงหลากหลายชนิด
เรือนกล้วยไม้ ที่เต็มไปด้วยกล้วยไม้นานาชนิดมากที่สุดในภาคเหนือ
ตลาดนัดชาวดอย ผลผลิตจากยอดดอยสู่ท้องตลาด มีทั้งผักและผลไม้ สด สะอาด ปลอดภัย ผลิตและจำหน่ายโดยเกษตรกรตัวจริง (ทุกวันเสาร์ เวลา 9.00-17.00 น. บริเวณข้างร้านจำหน่ายของที่ระลึก)
จุดบริการและร้านอาหารภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์
ลานจอดรถ ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์มีลานจอดรถกว้างขวาง เตรียมไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ มีจุดไว้ให้บริการมากมาย ทางด้านหน้าของอุทยานฯ ที่เป็นลานไว้สำหรับจอดรถและรองรับการจัดกิจกรรมแสดงดนตรีวัฒนธรรม การจัดงานเลี้ยง การจัดแสดงสินค้ารวมไปถึงการจัดกิจกรรมในรูปแบบอื่นๆด้วย
ห้องน้ำ จุดบริการห้องน้ำในอุทยานฯ ก็มีให้บริการมากมายตามจุดต่างๆทั่วบริเวณอุทยานฯ ห้องน้ำในอุทยานฯ สะดวกสบาย สะอาด ถูกหลักสาธารณสุข พร้อมแม่บ้านทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ มีห้องน้ำสำหรับผู้ชรา และผู้พิการ
ร้านครัวโครงการหลวง แวะจิบกาแฟ และรับประทานอาหารหลากหลายประเภท ฟังเพลงเบาๆ กับบรรยากาศร้านอาหารในสวน ร้านเปิดเวลา 09.00 น. – 17.00 น. (ปิดทุกวันพุธ) รับจัดเบรค และบุฟเฟต์อาหารกลางวัน รวมเครื่องดื่ม โดยใช้ผลผลิตจากโครงการหลวง ตั้งแต่ 40 ท่าน – 120 ท่าน บุฟเฟต์เริ่มต้นท่านละ 250 บาท
จุดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้ามากมายในอุทยานฯ ที่มีการจัดจำหน่ายอาหาร ของทานเล่น และเครื่องดื่ม ซึ่งอุทยานฯได้จัดไว้ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วอุทยานฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน
จุดจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ทางอุทยานฯมีสินค้าและของที่ระลึกมากมาย จัดจำหน่าย ณ จุดบริการของที่อุทยานฯจัดเตรียมไว้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถจัดซื้อหาของฝากของที่ระลึก อาทิ ตุ๊กตาแมสคอต เสื้อยืดลายอัตลักษณ์ของทางอุทยานฯ พวงกุญแจ หมวก เป็นต้น
การเดินทางมาอุทยานราชพฤกษ์
โดยรถส่วนตัว
เส้นทางที่ 1 ท่านมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนห้วยแก้ว (ทางหลวงหมายเลข 1004 ) เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนคันคลองชลประทาน(ทางหลวง หมายเลข 121) ไปอำเภอหางดง ประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนราชพฤกษ์ประมาณ 2 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 ท่านเดินทางมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามถนนเชียงใหม่ – หางดง (ทางหลวงหมายเลข 108) แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชพฤกษ์ประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงอุทยานหลวงราชพฤกษ์
บริการรถสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่
– รถสี่ล้อแดง (รถแดงเชียงใหม่)
– รถสามล้อ (รถตุ้กตุ้ก)
-Grab Car
เวลาทำการ
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8:00 น – 18:00 น. ตลอด 365 วัน
อัตราค่าบริการเข้าชม อุทยานหลวงราชพฤกษ์
นักท่องเที่ยวคนไทย ผู้ใหญ่ 100 บาท / เด็ก ส่วนสูง 100-140 ซม. 70 บาท
นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท / เด็ก ส่วนสูง 100-140 ซม.150 บาท
หมายเหตุ : เด็กส่วนสูงต่ำกว่า 100 ซม. เข้าชมฟรี!
ส่วนลดค่าเข้าอุทยานสำหรับองค์กรต่างๆ และหมู่คณะ
ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ข้าราชการ นักเรียน-นักศึกษา 70 บาท (แสดงบัตรประจำตัว)
ผู้พิการ พระภิกษุ เด็กเล็กสูงไม่เกิน 100 ซม. (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
บริการรถเข้าชมภายในอุทยานราชพฤกษ์
รถรางพ่วง ชมอุทยาน ไม่เสียค่าใช้จ่าย
รถกอล์ฟ ให้เช่า 800 บาท/ชั่วโมง
รถจักรยาน ให้เช่า วันละ 60 บาท/ครั้ง
>>ค้นหาโรงแรมที่พักในเชียงใหม่<<