ท่องเที่ยวเชียงราย กับเทศกาลและประเพณีที่สำคัญพื้นเมือง
แต่เดิมเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคก่อตั้งอณาจักรล้านนา อีกทั้งยังเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาแต่โบราณกาลประมาณ 750 ปีที่ผ่านมา เชียงรายเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือสุดของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 829 กิโลเมตร
มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง” แต่งเพื่อบ่งบอกถึงเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของผู้คนชาวเชียงรายที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ไทย พม่า และลาว หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ สามเหลี่ยมทองคำ มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญ
จังหวัดเชียงรายได้รับความสนใจในฐานะประตูสู่พม่า ลาว และจีนตอนใต้ ผ่านทางหลวงเอเชียสาย 2 เริ่มต้นจากอินโดนีเซีย ผ่านสิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) สงขลา กรุงเทพมหานคร เชียงราย (ไทย) มัณฑะเลย์ (พม่า) รากา (บังคลาเทศ) พาราณสี นิวเดลี (อินเดีย) ละฮอร์ (ปากีสถาน) ซาฮิถาน เตหะราน ทาบริช (อิหร่าน) ไปสิ้นสุดที่ แบกแดด (อิรัก)
และทางหลวงเอเชียสาย 3 โดยเริ่มต้นจากเมืองอูลาน-อูเด (รัสเซีย) ผ่าน จีน พม่า ลาวผ่านพรมแดนลาวที่อำเภอเชียงของ และสิ้นสุดที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน
สถานที่ท่องเที่ยว เชียงรายเที่ยวไหนดี เชียงราย ที่เที่ยว ท่องเที่ยวไทย
ประเพณีแห่พระแวดเวียง
เป็นประเพณีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเชียงราย ซึ่งมีพื้นฐานความคิดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ด้วยมีจุดมุ่งหมาย ให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการบูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองซึ่งประดิษฐานอยู่ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในตัวเมืองเชียงราย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวาระของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงรายได้พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์เป็นพระพุทธรูปศิลปเชียงแสน ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดพระสิงห์ เชียงราย, พระพุทธรูป ปาฏิหาริย์มงคล ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดฝั่งหมิ่น เชียงราย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคู่ชุมชนบ้านฝั่งหมิ่น,พระพุทธรูปสิงห์สอง ปางสมาธิ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดเชตวัน (พระนอน),พระพุทธรูปทองคำสำริด,พระพุทธรูปสิงห์สอง วัดดงหนองเป็ด, แบบสิงห์สาม วัดเชียงยืน,พระพุทธรูป สิงห์สาม วัดสักกวัน,พระพุทธสิริมิ่งมงคล วัดศรีบุญเรืองและพระพุทธศรีมิ่งมงคล วัดศรีเกิดมาประดิษฐานบนบุษบก ที่ได้สร้างขึ้นโดยช่างศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงรายจัดตั้งเป็นขบวนอัญเชิญไปรอบเมืองเชียงราย
ขวบอันเชิญจะประกอบไปด้วยนำโดยดนตรีพื้นเมือง ขลุ่ย สะล้อ ซึง ด้านหน้าขวบ จะมีผู้หญิงถือพานพุ่มดอกไม้บูชาโดยพุทธศาสนิกชนประชาชนทั่วไปจะไปยืนรอยังซุ้มรอบตัวเมืองเชียงราย รอโอกาสที่จะกราบไหว้สักการบูชาด้วยการโปรย ข้าวตอกและดอกไม้ เพื่อเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นศิริมงคลเป็นอย่างมาก
ประเพณีปอยหลวง
เป็นงานทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองศาสนสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอานิสงส์แก่ตนและครอบครัวเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนา นับตั้งแต่ชาวบ้านได้มาทำบุญร่วมกัน ร่วมกันจัดงานทำให้เกิดความสามัคคีในการทำงาน งานทำบุญปอยหลวง คำว่า “ ปอย ” มาจากคำว่า ปเวณี หมายถึง งานฉลองรื่นเริง หรืองานเทศกาลที่จัดขึ้ส่วนคำว่า “ หลวง ” หมายถึง ยิ่งใหญ่ ดังนั้น คำว่า “ ปอยหลวง ” จึง หมายถึง งานฉลองที่ยิ่งใหญ่
อีกทั้งยังเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน และมีการสืบทอดประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาครั้งแต่บรรพชนไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ช่วงเวลา จากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ระยะเวลาการจัดงานประมาณ 3-7 วัน
ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง งานประเพณีสงกรานต์
จัดขึ้นประมาณกลางเดือนเมษายน ในงานมี การจัดขบวนแห่ไม้ค้ำสรี (ไม้ค้ำต้นโพธิ์) ก่อนที่จะร่วมกันสรงน้ำพระธาตุ พิธีการทำบุญตักบาตร และพิธีบวงสรวงศาลพระภูมิของเทศบาลนครเชียงราย ขบวนแห่และสรงน้ำพระเจ้าล้านทอง การแข่งเรือ และการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพ การประกวดเทพีสงกรานต์
การประกวดขบวนรถเทพีสงกรานต์และขบวนแห่ของชุมชน จัดบริเวณตัวเมืองเชียงราย และอำเภอเชียงแสน โดยที่ถนนธนาลัยจะเป็นถนนสายหลักกลางใจเมืองที่มีผู้คนมากมายมาร่วมกันเล่นน้ำสงกรานต์ตลอดทั้งสาย ซึ่งมนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ความสนใจไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก
งานเทศกาลลิ้นจี่และของดีเมืองเชียงราย
จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นตลาดลิ้นจี่ที่มีราคาตกต่ำ จนเกษตรกรชาวสวนในเชียงรายเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เป็นเทศกาลที่ชาวเกษตรกรต่างนำผลผลิตทางการเกษตรของตนมาออกร้าน โดยเฉพาะลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียงมากของเชียงราย
ภายในงานมี สินค้าโอทอป ผลิตภัณฑ์จากชุมชน และสินค้าอื่นๆอีกมากมาย
อีกทั้งยังมีการแสดงบนเวที การจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด ลือกซื้อสินค้าจากชุมชน ชมการแข่งขันทำลาบ ส้มตำ ชมการประกวดร้องเพลงคำเมืองเหนือ และฟรีคอนเสิร์ต นอกจากนี้ยังมีการประกวดขบวนรถและธิดาลิ้นจี่ งานจะจัดอยู่บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย มีขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี
ประเพณีเป็งปุ๊ด
“เป็งปุ๊ด” หรือ “เพ็ญพุธ” เป็นประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน (จะใส่ตักบาตรในคืนวันพุธเวลา 24.00 น. เป็นต้นไป) ค่อนรุ่งเข้าสู่วันเพ็ญขึ้น15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ตามวัฒนธรรมและความเชื่อของบรรพบุรุษล้านนาไทย ที่เชื่อกันว่าพระอุปคุตซึ่งพระอรหันต์องค์หนึ่งแปลงกันยายนป็นสามเณรน้อยมาบิณฑบาตโปรดสัตว์โลกในยามเที่ยงคืน
และชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าการทำบุญตักบาตรถวายพระอุปคุตในวันเป็งปุ๊ดก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญ มีโชคลาภและร่ำรวย บังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยชาวล้านนาเชื่อว่า ทุกคืนที่ย่างเข้าสู่วันพุธขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันเป็งปุ๊ด และจะมีประชาชนชาวล้านนาจำนวนมากมารอเพื่อประกอบพิธีทำบุญตักบาตรด้วยข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสามเณร
งานไหว้สาพญามังราย
จัดให้มีพิธีบวงสรวงพญามังราย ภายในงานมีการออกร้าน จัดนิทรรศการของส่วนราชการและเอกชน และงานรื่นเริงต่างๆ งานจะทำเป็นประจำทุกปีในวันที่ 18 เมษายน ณ คุ้มพญาเม็งราย (มังราย)ตั้งอยู่ที่บ้านสันป่าสัก ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันคุ้มพญาเม็งรายเป็นสถานที่สักการะบูชาและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของ ประชาชนโดยทั่วไป หากนักท่องเที่ยวท่านใดมีโอกาศแวะเวียนมาเที่ยวยังจังหวัดเชียงราย จะนิยมมาสักการะ ขอพอ สิ่งศักสิทธิ์ จากที่นี้เพื่อความเป็นศิริมงคล โชคดีตลอดการเดินทางนั้นเอง
งานอนุรักษ์มรดกไทยล้านนา
จัดในเดือนเมษายน ภายในงานสามารถชมกิจกรรมทางวัฒนธรรม การแสดงผลงานภูมิปัญญาท้องถิ่น เลือกซื้อสินค้าในบรรยากาศ กาดมั้ว และการแสดงทางวัฒนธรรมล้านนา และชาติพันธุ์ ผู้ที่ไปร่วมงานสามารถใส่ชุดพื้นเมืองล้านนาเข้าร่วมงานได้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่า งานจะจัดที่บริเวณ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
งานประเพณีขึ้นพระธาตุดอยตุง
จัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือนหกเหนือ หรือเดือนมีนาคม เป็นประเพณีของชาว ล้านนา รวมทั้งชาวไทยใหญ่ในพม่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ณ วัดพระธาตุดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่ได้กระทำต่อเนื่องมาแต่อดีต โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ จะเดินขึ้นพระธาตุในตอนกลางคืน เมื่อมาถึงก็จะพากันนมัสการองค์พระธาตุก่อน จากนั้นจึงหาพื้นที่ประกอบอาหารเพื่อตักบาตรในตอนเช้าหลังจากตักบาตรแล้วจะ ช่วยกันบูรณะบริเวณองค์พระธาตุเมื่อถึงยามค่ำคืนก็มารวมกันที่ปะรำพิธีเพื่อฟังเทศน์
ในแต่ละปีจะมีพุทธศาสนิกชนไปร่วมงานบุญเป็นจำนวนมากภายในงานมีกิจกรรมปฏิบัติธรรม พิธีตักน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ พิธีสมโภชน้ำทิพย์ พิธีทำบุญตักบาตร การเดินจาริกแสวงบุญขึ้นพระธาตุดอยตุง ตามรอยครูบาศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนา) พิธีแห่ขบวนเครื่องสักการะแบบล้านนา ที่มีความยิ่งใหญ่และสวยงาม
ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก
เป็นประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อของผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะชาวประมง ในเขตบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ เกี่ยวกับปลาบึกซึ่งเป็นปลาขนาด ใหญ่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ มีเทพเจ้าคุ้มครอง ก่อนที่ชาวประมง จะจับปลาบึกต้องมีการบวงสรวงก่อน ฤดูกาลจับปลาบึกจะอยู่ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี
ตั้งแต่ในอดีตมานั้นชาวประมงที่อยู่ในเขตบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย จะยึดถือการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในการกำหนดช่วงเวลา โดยการสังเกตจากต้นโพธิ์ยักษ์ 2 ต้น ที่มีขนาด 4 คนโอบไม่รอบ ที่ขึ้นอยู่บริเวณวัดหาดไคร้ เป็นสัญลักษณ์ คือ เมื่อถึงช่วงที่ต้นโพธิ์ยักษ์คู่นี้สลัดทิ้งใบร่วงหล่นจนหมดต้น แสดงว่าถึงช่วงเวลาของการเริ่มออกล่าปลาบึก จนกระทั่งต้นโพธิ์เริ่มผลิใบใหม่จนเขียวชอุ่มดังเดิม ชาวประมงบ้านหาดไคร้ก็จะหยุดล่าปลาบึก ปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นนี้จะตรงกับช่วงกลางเดือนเมษายน ถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี และเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
สถานที่ประกอบพิธีคือที่ศาลเพียงตาตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ประกอบด้วยเครื่องบวงสรวง เป็นต้นว่า ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก และเหล้าเบียร์เดิมทีนั้นชาวบ้านจะใช้ไก่ที่มีชีวิตมาฟาดให้ตายทั้งเป็น เพื่อให้เลือดกระเซ็นรอบๆเรือ และอวนแหที่ใช้ดักจับปลาบึก ส่วนไก่ก็นำมาเป็นอาหารมาแบ่งกันกินปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นใช้ไก่ที่ต้มสุกแล้ว
ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอีก้อ
หรือที่เรียกตนเองว่า “อาข่า” เป็นงานเทศกาลปีใหม่ โล้ชิงช้าของชาวอาข่า ที่มีเชื้อสายจากจีน-ทิเบต เดินทางอพยพมาอยู่บริเวณ ชายแดนไทย-พม่า แถบตอนเหนือของลำน้ำกก โดยเฉพาะอำเภอแม่จันและแม่สายการโล้ชิงช้า หรืออ่าข่าเรียกว่า “แย้ขู่อ่าเผ่ว” เป็นการ ขึ้นไปขอพรและแสดงความรำลึกถึงพระคุณของเทพธิดาแห่งสรวงสวรรค์ “อึ่มซาแยะ
ผู้ประทานความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและเพื่อเป็นการฉลองให้กับพืชผลที่มีความเจริญงอกงาม รอเก็บเกี่ยว รำลึกและให้เกียรติสตรี พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ,การเลี้ยงฉลอง และการเต้นรำในการจัดประเพณีโล้ชิงช้าแต่ละปีของอ่าข่า จะต้องมีฝนตกลงมา ถ้าปีไหนเกิดฝนไม่ตกอ่าข่าถือว่าไม่ดี ผลผลิตที่ออกมาจะไม่งอกงาม จัดในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายน