วัดอุโมงค์ เชียงใหม่

วัดอุโมงค์(อุโมงค์เถรจันทร์) เป็นชื่อเรียกวัดเก่าที่ “พระเจ้ากือนาธรรมิกราช” ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อถวายเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย วัดอุโมงค์นี้หมายเอาเฉพาะบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีกำแพงอิฐปรากฏอยู่ทั้งสี่ด้าน ด้านตะวันออกจากขอบสระใหญ่

ด้านเหนือตรงไปทางทิศเหนือโรงพิมพ์ปัจจุบันจรดกำแพงอิฐพอดี ยาวประมาณ 100 วา ด้านเหนือจากแนวกำแพงเหนือโรงพิมพ์ปัจจุบันทางทิศตะวันตก จนถึงขอบสระหลังวัดอุโมงค์ ยาวประมาณ 100 วา, ด้านตะวันตกจากขอบ สระแนวกำแพงด้านเหนือ ถึงขอบสระใหญ่ใต้พระเจดีย์ ยาวประมาณ 100 วา, ด้านใต้จากขอบสระหลังพระเจดีย์ตรงไปทางตะวันตกออกจรดกำแพงทิศตะวันออกหน้าพระอุโบสถ ยาวประมาณ 100 วา มีพระอุโบสถขนาดย่อมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

ค้นหาโรงแรมในเชียงใหม่

Booking.com

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) มีจุดที่น่าสนในหลายจุด อาทิ อุโมงค์ใต้พระเจดีย์ 700 ปี ที่มีความแปลกแบบที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากวัดทั่วไป โดยเป็นอุโมงค์ที่เชื่อมต่อกันถึง 4 อุโมงค์ ด้านนอกอุโมงค์มีลานเศียรพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาที่ให้ความรู้สึกขลังยามที่เดินชม นอกจากนั้นยังมีหอธรรมโฆษณ์ พิพิธภัณฑ์ เสาอโศกจำลอง ลานธรรม เกาะกลางน้ำทำบุญให้อาหารปลาฯ รายล้อมไปด้วยความร่มรื่นและสถานที่ปฏิบัติทางสงฆ์ นอกจากนี้ยังมี “วัดพระธาตุดอยคำ” อีกหนึ่งวัดสำคัญที่อยู่ไม่ไกลจาก วัดอุโมงค์ อีกด้วย อีกหนึ่งวัดสำคัญในเชียงใหม่

วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่

สวนพุทธธรรม เป็นชื่อใหม่ที่ ภิกขุ ปัญญานันทะ ประธานวัดอุโมงค์ ในสมัยนั้น (พ.ศ.2492-พ.ศ.2509) ตั้งขึ้นเรียกสถานที่ป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมวัดร้างโบราณ ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ ที่พุทธนิคมเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นที่อยู่ของภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้แสวงหาความสงบ พื้นที่ซึ่งเรียกว่า สวนพุทธธรรมนี้กว้างมาก

รวมเอาวัดไผ่11กอ (เวฬุกัฏฐาราม ซึ่งพระเจ้ามังรายมหาราชทรงสร้างไว้ถวายเป็นที่พำนักของพระมหากัสสปะเถระ ชาวลังกา ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสมัยนั้น) วัดอุโมงค์เถรจันทร์ และวัดอื่นๆ (ที่อยู่ใกล้วัดอุโมงค์ทั้ง 4 ด้าน) อีก 4 วัดเอาไว้ด้วยทั้งหมด

ประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

ธรรมเนียบการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณไว้ด้วยว่า เมื่อทรงสร้างพระราชวัง และเมืองหลวงเสร็จแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับสองก็คือ วัดสำคัญประจำเมืองทั้งสี่ทิศ หรือสองทิศ(เหนือ ใต้) และวัดพิเศษภายในราชวัง สำหรับเป็นที่สักการะบูชาของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์อีก 1 วัดเสมอ ความจริงเรื่องนี้หาดูได้ตามเมืองหลวงของไทยสมัยโบราณ เช่นเชียงแสน, สุโขทัย, อยุธยา, ลพบุรี, นครศรีธรรมราช, ฯลฯ และกรุงเทพมหานคร อันเป็นเมืองหลวงปัจจุบันการที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยก่อน ถือว่าการสร้างวัดเป็นสิ่งสำคัญอันดับสองรองจากการสร้างวังนั้น

ประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า เมื่อพระเจ้ามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ตกลงพระทัยที่จะสร้างเมืองใหม่ที่ป่าเลาคา (ต้นเลาคา และต้นหญ้าคา)ระหว่างแม่น้ำปิงกับดอยสุเทพแล้ว ได้แต่งตั้งราชบุรุษถือพระราชสาส์นไปทูลเชิญพระสหายร่วมน้ำสาบานทั้งสองคือ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช เจ้าผู้ครองนครสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง เจ้าผู้ครองนครพะเยา มาปรึกษาการสร้างเมืองที่ เวียงเหล็ก (ที่ตั้งวัดเชียงมั่นทุกวันนี้)

หลังจากที่สามกษัตริย์ได้ตกลงกันว่า ควรสร้างราชธานีใหม่ กว้าง 800 วา ยาว 1000 วา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกแล้วก็ทำพิธีฝังเสาหลักเมืองใน วันพฤหัสบดี เดือนแปดเหนือ (เดือนหกใต้) ปีวอก พ.ศ. 1839 ฝังหลักเมืองแล้วใช้พลเมือง 5 หมื่นคน ช่วยกันก่อสร้างพระราชเวศน์มณเฑียรสถาน อีก 4 หมื่นคนช่วยกันขุดคูเมือง และกำแพงเมือง ก่อสร้างอยู่เป็นเวลา 4 เดือนก็แล้วเสร็จหลังจากฉลองเมืองใหม่เป็นการใหญ่ 7 วัน 7 คืนแล้ว กษัตริย์ทั้งสามก็พร้อมใจกันตั้งนามเมืองใหม่ว่า”เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่”

หลังจากสร้างราชธานีเรียบร้อยแล้ว พระเจ้ามังรายมหาราชได้ทรงสร้างวัดสำคัญฝ่ายคามวาสี (วัดสำหรับภิกษุที่ชอบอยู่ในเมือง เพื่อเรียนพุทธวจนะ) ประจำเมืองทั้ง 4 ทิศพร้อมทั้งวัดภายในพระราชวังด้วย และทรงสร้างวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดสำหรับภิกษุที่เรียนพุทธวัจนะแล้ว ออกไปหาความสงบในป่า บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน) บริเวณชานพระนครขึ้นหลายวัด เช่น วัดเก้าถ้าน เป็นต้น

mairoopainai

พระเจ้ามังรายมหาราช ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา และพระภิกษุสามเณร ทั้งฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสีด้วยปัจจัยสี่ ให้มีกำลังใจศึกษา และปฏิบัติพระธรรมวินัยตามความสามารถแห่งตนอย่างดียิ่งทั้งสองฝ่าย กาลต่อมาพระองค์ได้ทรงทราบว่า พระเจ้ารามคำแหงมหาราช พระสหายผู้ครองนครสุโขทัย

ได้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองลังกา ที่มาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช มาสั่งสอนพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายปริยัติ และฝ่ายปฏิบัติแก่ชาวเมืองสุโขทัยปรากฏเกียรติคุณว่า พระสงฆ์ลังกาแตกฉานพระไตรปิฎกเคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งกว่าพระไทยที่มีอยู่เดิม เกิดศรัทธาเสื่อมใส ประสงค์จะได้พระลังกามาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่บ้าง

จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ขอพระสงฆ์ลังกา จากพระเจ้ารามคำแหงมหาราชมา 5 รูป เมื่อได้พระลังกา 5 รูป อันมีพระมหากัสสปะเถระ เป็นหัวหน้ามาสมพระประสงค์แล้ว เกิดลังเลพระทัยไม่ทราบว่าจะนำพระลังกา 5 รูปนี้ไปอยู่วัดไนดี จะนำไปอยู่กับพระไทยเดิมทั้งฝ่ายคามวาสีก้เกรงว่าพระลังกาจะไม่สบายใจเพราะระเบียบประเพณีในการประพฤติอาจจะไม่เหมือนกัน

แวะเที่ยว

ในที่สุดได้ตกลงพระทัยสร้างวัดฝ่ายอรัญวาสีเฉพาะพระลังกาขึ้นวัดหนึ่งต่างหากที่บริเวณป่าไผ่ 11 กอ (สถานที่ซึ่งเรียกว่าวัดอุโมงค์ สวนพระพุทธธรรมทุกวันนี้) การสร้างวัดไผ่ 11 กอครั้งนั้นพระองค์ประสงค์จะสร้างเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาประดิษฐานในลานนาไทยเป็นครั้งแรก จึงขอให้พระมหากัสสปะเถระเป็นผู้วางแผนผังวัดให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และประเพณีอันดีงามของชาวพุทธจริงๆ

เมื่อพระมหากัสสปะเถระวางแผนผังวัดออกเป็นเขตพุทธาวาส(สถานที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น พระเจดีย์ พระอุโบสถ) และสังฆาวาส (สถานที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ เช่น สาลาแสดงธรรม กุฏิพระโรงฉัน) เรียบร้อยแล้วพระเจ้ามังรายมหาราชได้เป้นผู้อำนวยการสร้างวัดใหม่ตามแผนผังนั้น โดยยึดเอาแบบอย่างการสร้างวัดของเมืองลังกาเป็นแบบฉบับ แม้พระเจดีย์ใหญ่อันเป็นหลักชัยของวัด

ก็สร้างทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกาทั้งหมด(พระเจดีย์ที่พระเจ้ามังรายสร้างอันเดียวกับพระเจดีย์ใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรมทุกวันนี้ แต่ของเดิมย่อมกว่าที่ใหญ่ขึ้นยังไม่เก่านัก และมองเห็นลวดลายสวยงามชัดเจน เป็นพระเจ้ากือนาธรรมิกราชรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังรายทรงบูรณะขึ้นใหม่ด้วยการพอกปูนทับของเก่า พร้อมกับการสร้างอุโมงค์ให้พระมหาเถรจันทร์อยู่ระหว่าง พ.ศ. 1910-1930) สร้างวัดเสร็จเรียบร้อย และทำการฉลองแล้ว ทรงขนานนามว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ)

จากนั้นก็นิมนต์คณะสงฆ์จากลังกาเข้าอยู่จำพรรษาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม และเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป หลังจากทรงสร้างวัดถวายคณะสงฆ์ลังกาวงศ์แล้วทรงสนพระทัยในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดให้ความอุปถัมภ์แก่พระสงฆ์ไทย และพระสงฆ์ลังกาด้วยปัจจัยสี่และหมั่นมาฟังธรรมเทศนาจากพระสงฆ์เสมอ การใดที่ทำให้พุทธศาสนาเจริญแล้ว จะทรงกระทำการนั้นทันที

นอกจากจะสนพระทัยพระพุทธศาสนาเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ยังทรงแนะนำชักชวนพระบรมวงศานานุวงศ์และประชาชนให้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนา โดยพากันมาวัดในวันพระเพื่อให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เทศนาจากพระสงฆ์และเจริญภาวนาหาความสงบใจอีกด้วย

วัดที่พระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนศรัทธาเลื่อมใส สนใจไปให้ทาน รักษาศีลฟังธรรมเทศนา และเจริญภาวนามากที่สุดในสมัยนั้น คือ วัดเวฬุกัฏฐาราม(วัดไผ่ 11 กอ) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระลังกาที่มาจำพรรษาอยู่มีความรู้ในธรรมวินัยดี มีความสามารถในการแสดงธรรมมาก มีความประพฤติเรียบร้อย

และเคร่งครัดในระเบียบวินัยมากกว่าพระอื่นๆ ความดีงามของพระลังกาในครั้งนั้นเป้นเหตุให้กุลบุตรสมัครเข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณรมากมาย ยิ่งนับวันเกียรติคุณของพระลังกาวงศ์ขจรขจายไปทั่วทิศ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว และตั้งหลักได้มั่นคงในลานนาไทยเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์

หลังจากพระเจ้ามังรายมการาชทรงสวรรคต เพราะถูกฟ้าผ่า ที่สี่แยกเมืองเชียงใหม่ เมือพระชนมายุได้ 80 พรรษา (พ.ศ. 1860) แล้ว กิจการพระศาสนาก็เริ่มเสื่อมลงทันที เพราะพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นรัชทายาทครองเมืองเชียงใหม่สมัยต่อมา เช่น พระเจ้าชัยสงคราม (พ.ศ. 1860-1861) พระเจ้าแสนกู่ (พ.ศ.1865-1871) พระเจ้าคำฟู (พ.ศ.1871-1877) ไปประทับอยู่เมืองเชียงราย และเชียงแสนเสียหมดคงตั้งพระโอรสที่เป็นรัชทายาทครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะมหาอุปราชเท่านั้นประการหนึ่ง

เหตุที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช

ทรงสร้างอุโมงค์ใหญ่โตสวยงาม

เกิดมาจากพระองค์ทรงศรัทธาเป็นพิเศษในพระมหาเถระชาวลานนา ผู้แตกฉานพระไตรปิฏก มีปฏิภาณโต้ตอบปัญหาอยู่เป็นเยี่ยมรูปหนึ่ง พระมหาเถระรูปนั้นมีชื่อว่าพระมหาเถระจันทร์ ตำนานพิสดารเกี่ยวกับพระมหาเถระรูปนี้กล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยของพระเจ้ากือนานั้น มีพระเถระรูปหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก และมคธภาษา อย่างหาตัวจับยากในยุคนั้น พระเถระชาวล้านนารูปนี้ มีนามว่า พระมหาเถระจันทร์

ในตำนานกล่าวต่อไปว่าพระมหาเถระจันทร์นี้ แต่เดิมเป็นเด็กอยู่บ้านเมืองวัว เมื่ออายุได้ 16 ปี ก็ได้ไปขอบรรพชาเป็นสามเณรกับพระเถระวัดไผ่ 11 กอ ต่อมาได้ออกมาอยู่จำพรรษาที่ วัดโพธิ์น้อย ในเวียงเชียงใม่ 3 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์น้อยอีก 3 พรรษา ในขณะนั้นครูบาเจ้าอาวาสวัดไผ่ 11 กอ

ซึ่งเป็นพระอาจารย์ได้ล้มป่วย มีอาการหนัก พระภิกษุจันทร์ได้ไปเยี่ยมและเฝ้าพยาบาลอาจารย์ ท่านอาจารย์จึงได้มอบคัมภีร์ศาสตร์ประเภทชื่อ มหาโยคีมันตระประเภท ให้ และแนะนำให้เอาไปทำพิธีเล่าเรียนในที่สงัด บอกว่าเมื่อท่องบ่นมนต์นั้นจบแล้ว จะทำให้เป็นผู้มีสติปัญญา เฉลียว ฉลาด เฉียบแหลม สามารถเล่าเรียนและรอบรู้วิทยาการและพระธรรมได้โดยรวดเร็ว

เมื่อได้มอบคัมภีร์นั้นให้แก่ภิกษุจันทร์แล้ว ครูบาผู้เป็นอาจารย์ก็ถึงมรณภาพ หลังจากที่ได้จัดการฌาปนกิจศพพระอาจารย์แล้ว พระภิกษุจันทร์ก็ได้เที่ยวแสวงหาสถานที่ที่สงัด เพื่อจะทำพิธีศึกษาเวทมนตร์จากพระคัมภีร์ที่ท่านอาจารย์มอบให้ พระภิกษุจันทร์ได้ถามชาวบ้านและวานชาวบ้านให้ส่งไปยังสถานที่อันสงัดบนดอยสุเทพ ซึ่งชาวบ้านก็ได้ไปส่ง ณ ศาลาฤาษีสุเทพ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไผ่ 11 กอ ประมาณ 2,000 วา (4 ก.ม.)

ครั้นถึงที่นั่นแล้ว พระภิกษุจันทร์ก็บอกชาวบ้านให้กลับ ส่วนตัวท่านเองก็เริ่มทำพิธีท่องมันตระประเภทให้ได้ครบพันคาบ สมจิตตสูตร ห้าร้อยคาบ มหาสมัยสูตรห้าร้อยคาบ ธรรมจักรสูตรห้าร้อยคาบ พอถึงราตรีที่สาม ท่านก็สวดมนต์มหาสมัยสูตรอีกห้าร้อยคาบ พอสวดถึงตอนที่ว่า เขมิยาตุสิตายามา

ท่านก็มองเห็นแสงสว่างตรงมาข้างหน้าแสงนั้นเคลื่อนใกล้เข้ามาๆ จนแลเห็นชัด ปรากฏเป็นรูปคล้ายมนุษย์และสวยงามอย่างยิ่งมายืนอยู่ตรงหน้าท่านแล้วถามว่า ท่านมาทำอะไร และปรารถนาอะไร ? พระภิกษุจันทร์ตอบว่า “เรามาทำศาสตรเภท เพื่ออยากได้สติปัญญาอันเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด”

ผู้ประหลาดนั้นจึงถามอีกว่า ท่านจะอยู่ในพรหมจรรย์ตลอดชีวิตหรือ ? หรือว่ายังจะลาสิกขาไปเป็นฆราวาสเมื่อเรียนศาสตรเภทจบแล้ว

พระภิกษุจันทร์ตอบว่า “เราถวายชีวิตของเราแล้วเพื่อพระพุทธศาสนา” ผู้ประหลาดนั้นจึงพูดว่า “เราจะถวายของสิ่งหนึ่งให้แก่ท่าน ท่านจงยื่นมือมารับเอาเถอะ” แล้วก็ส่งของสิ่งหนึ่งให้ (ในตำนานกล่าวว่าสิ่งนั้นเป็นหมากเคี้ยวคือหมากที่ทำเป็นคำๆ) แก่พระภิกษุจันทร์ๆ แลเห็นแขนและมือที่ยื่นส่งของมานั้นสวยงามผุดผ่องและนิ่มนวลก็จับเอาทั้งมือทั้งหมากรูปประหลาดนั้น (เทวดาแปลง) ก็กล่าวเป็นคำคาถาว่า อสติกโรติ “ท่านจงหาสติมิได้เถิด” แล้วก็หายวับไปทันที

แต่นั้นมาท่านภิกษุจันทร์ก๊กลายเป็นคนหลงๆ ลืมๆคล้ายกับคนเสียสติ เป็นไปด้วยเดชคำสาปของเทวดาแปลงนั้น เมื่อเห็นว่าถูกทำลายพิธี และตนเองก็กลายเป็นคนสติเผลอไผลไปเช่นนี้ พระภิกษุจันทร์ก็กลับลงมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดโพธิ์น้อยตามเดิม (วัดนี้ไม่ทราบว่าอยู่แห่งใด) เวลามีสติสัมปชัญญะดี สามารถเรียนพระไตรปิฎกได้แม่นยำรวดเร็วมาก เรียนพระวินัยจบในเวลา 1 เดือน เรียนพระสูตรจบในเวลา 1 เดือน เรียนพระอภิธรรมจบภายในเวลา 1 เดือนกับ 15 วัน เมื่อเวลาสติท่านไม่สู้จะปรกติท่านจะเที่ยวจาริกไปในที่สงบสงัด เพื่อบำเพ็ญภาวนาตามลำพัง

วัดอุโมงค์(อุโมงค์เถรจันทร์)

ในสมัยนั้น มีพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิและรอบรู้ในพระไตรปิฎกอยู่ 6 องค์ด้วยกันคือ พระธัมมะเทโวเถระ พระติกขปัญโญเถระ สององค์นี้จำพรรษาอยู่ ณ วัดสวนดอก พระอาเมทะเถระ พระจักปัญโญคุฑะเถระ เป็นพระเถระชาวพุกาม จำพรรษาอยู่ ณ วัดเสขาน (ไม่ทราบว่าอยู่แห่งใด) พระพุทธติสโสริยะเถระ พระโสมาติสโสริยะเถระ สององค์นี้เป็นพระชาวใต้ (ไทยกลาง) จำพรรษาอยู่ ณ วัดปุยันโต (ไม่ทราบว่าอยู่แห่งใด) พระเถระทั้ง 6 รูปนี้ แม้จะรอบรู้ในพระไตรปิฎกก็จริง แต่ก็สู้ท่านมหาจันทร์ไม่ได้

ในครั้งนั้นมักจะมีพระเถระจากต่างเมืองมาถามปัญหาธรรมอยู่เสมอ และทุกครั้งที่มีการถกเถียงปัญหาธรรมที่ลึกซึ้ง ก็ต้องอาศัยพระเถระจันทร์เป็นผู้เฉลยปัญหานั้นให้ด้วยความเชี่ยวชาญ และรอบรู้ของท่านมหาเถระจัทร์นี้เองทำให้พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงโปรดปรานเป็นอันมาก แต่พระมหาเถระจันทร์ชอบจาริกอยู่ตามป่าดง เพื่อหาที่สงบสงัดบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นนิจ ไม่มีที่อยู่ที่แน่นอน เวลาต้องการตัวโต้ตอบปัญหาหรือศึกษาข้อธรรม มักจะตามไม่ค่อยพบ หรือพบได้ยากมาก พระเจ้ากือนาธรรมิกราชประสงค์จะให้พระมหาจันทร์อยู่เป็นที่ สะดวกต่อการติดต่อและพบปะง่าย

จึงโปรดให้สรางอุโมงค์ใหญ่ขึ้นที่ด้านเหนือฐานพระเจดีย์ใหญ่ในวัดเวฬุกัฏฐาราม สร้างเสร็จแล้วให้เป็นที่อยู่ของพระมหาจันทร์ มหาชนทั้งหลายจึงเรียกกันว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตั้งแต่บัดนั้นมาถึงทุกวันนี้ พระมหาจันทร์อยู่จำพรรษาเจริญศรัทธาพระมหากษัตริย์ บรมวงศานุวงศ์ และประชาชน อยู่ที่วัดอุโมงค์หลายสิบปี ในที่สุดก็มรณะภาพลงด้วยอายุได้ประมาณ 77 ปีนอกจากทรงส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนา

จุดสำคัญภายในวัดวัดอุโมงค์

  • โมงค์ใต้เจดีย์ อุโมงค์ในวัดอุโมงค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะวัดอุโมงค์ สร้างขึ้นเพื่อถวายเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย โดยได้สร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ ถัดจากฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้นหนึ่งอุโมงค์ อุโมงค์ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้ทั้งใหญ่และสวยงามมาก มีทางเข้าออก 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึง ข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์ก็เจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่างเป็นระยะ เพื่อให้สะดวกแก่พระเดินในการจงกรมและภาวนาอยู่ข้างใน เพดานอุโมงค์เขียนภาพต่างๆ ด้วยสีน้ำมันไว้ตลอดทั้ง 2 ช่อง โดยเน้นที่สีเขียวและแดง ฝีมือที่เขียนดูจะเป็นช่างจีนผสมช่างไทย

 

  • พระเจดีย์ 700 ปี เจดีย์ในวัดอุโมงค์เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มีบันไดนาคเป็นทางขึ้นลงอยู่ทางทิศใต้ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่าแบบพุกาม ได้มีการปรับเปลี่ยนแบบของเจดีย์ตามแต่ละยุคสมัย แรกเริ่มก่อสร้างเริ่มขึ้นในสมัยของพระเจ้ามังรายโดยมีโครงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกา ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆัง มีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวยซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า

 

  • พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ชมเศียรพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา บริเวณด้านข้างของทางเข้าอุโมงค์ เป็นลานกลางแจ้งที่มีเศียรพระพุทธรูปวางอยู่เรียงรายเป็นพื้นที่บริเวณกว้าง เป็นจุดที่น่าสนใจอีกแห่งสำหรับคนที่มาเที่ยวชมที่วัดอุโมงค์ โดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่วางคู่กับเศียรพระพุทธรูปและหินแกะสลักอย่างระเกะระกะ เศียรพระพุทธรูปเหล่านี้สร้างขึ้นโดยช่างสกุลพะเยาประมาณปี พ.ศ. 1950 – พ.ศ. 2100 เจ้าชื่น สิโรรส และผู้ศรัทธาวัดอุโมงค์ได้ทยอยนำมาจากวัดร้างในพะเยาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 – พ.ศ. 2513

 

  • เสาอโศกจำลอง เสาอโศกที่อยู่ภายในวัดอุโมงค์เป็นเสาจำลองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2507 เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึง พระเจ้าอโศกมหาราชผู้เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกและเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์แรกของโลก ซึ่งเสาอโศกเป็นเครื่องหมายอันสำคัญดังเช่นที่ค้นพบที่อินเดียและเนปาล เมื่อเสาอโศกตั้งอยู่ที่ใดหมายถึงสถานที่นั้นมีความสำคัญกับองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา

 

  • หอธรรมโฆษณ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาทรงไทย เนื้อที่ชั้นล่างเป็นห้องสมุดบริการหนังสือธรรมในศาสนาพุทธ พื้นที่บนชั้นสองจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดงเป็นของที่พบในบริเวณวัดอุโมงค์ นอกจากนั้นยังวัตถุที่เป็นของใช้ในวัด อาทิ กลุ่มพระพุทธรูปทำด้วยทองแดง ทองเหลือง เชี่ยนหมากสำริด ไม้แกะสลัก เครื่องปั้นดินเผาโบราณ เครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องเขิน อาวุธ เอกสารตัวเขียน ภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังรูปนกในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ รูปเทพชุมนุมในกรุวัดอุโมงค์ เป็นต้น

ที่ตั้งของ วัดอุโมงค์

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เลขที่ 135 หมู่ 10 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

เบอร์ติดต่อวัดอุโมงค์

สำนักงานสวนพุทธธรรม (ศูนย์เผยแผ่ธรรม) 053-328054
ศูนย์ปฏิบัติธรรม นานาชาติ (Meditation Center Wat Umong Suan Budhha Dhamma Chaingmai) พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล (ผศ.ดร.) 085-107-6045
กุฏิเจ้าอาวาส 053-811100

วิธีการเดินทางไปยัง วัดอุโมงค์

โดยรถยนต์ส่วนตัว
สามารถเข้าถึงได้ 2 ทาง เส้นทางที่หนึ่ง คือ เข้าทางถนนสุเทพจากต้นซอยมาประมาณ 0.5 กม. หรือเส้นทางที่สอง คือ เข้าจากถนนเลียบคลองชลประทานประมาณ 0.1 กม. หลังมหาวิทยาลับเชียงใหม่
โดยรถสาธารณะ
สามารถนั่งรถสองแถวสีแดงที่ให้บริการรอบเมืองค่าโดยสารแล้วแต่ระยะทาง หรือ Grab car

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.watumong.org,thailandtourismdirectory.go.th