สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยา
อยุธยา เป็นจังหวัดในภาคกลาง มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานและสำคัญในอดีต เคยมีชื่อเสียงด้านการปลูกข้าวที่สำคัญ พระนครศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานี (เมืองหลวง) ของอาณาจักรอยุธยา หรืออาณาจักรสยาม ตลอดระยะเวลา 417 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 กระทั่งเสียกรุงแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310
ปัจจุบันยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างจากในอดีต และซากปรักหักพังต่างๆที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา ที่นี้จึงเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้เดินทางมาเยี่ยมชมความสวยงามของเมืองหลวงเก่าของไทยในอดีต อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของเยาวชนทั้งหลาย ให้ได้เข้ามาเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง
การเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สามารถเลือกใช้เส้นทางได้ดังนี้ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ไปทางรังสิต ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยว ซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ)
หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวา เข้าทาง หลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) แล้วข้ามสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานี ต่อด้วย เส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) เลี้ยวแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวง หมายเลข 3263 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หรือจะใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ ทาง หลวงหมายเลข 347 แล้วไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วัดพระศรีสรรเพชญ์
เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือและอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวัง และโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้นเพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00–18.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 60 บาท ชาวต่างชาติ 180 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ภายในระยะเวลา 30 วัน
วัดใหญ่ชัยมงคล
เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถรในประเทศลังกา วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีผู้นิยมไปสักการะกันอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก ค่าเข้าชม
ชาวต่างชาติ คนละ 20 บาท
วัดไชยวัฒนาราม
โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นบนที่ที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือกรุงละแวก (พนมเปญ) โดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด สถาปัตยกรรมฐานภายใน มีปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน เมรุทิศเมรุรายตั้งล้อมรอบพระปรางค์อยู่ทั้งสิ้น 8 หลัง
โดยผนังภายในเมรุเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปใบไม้ใบกนก ซึ่งลบเลือนไปมากแล้ว ผนังด้านนอกของเมรุมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติ จำนวน 12 ภาพ พระอุโบสถ สร้างอยู่ทางด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุราย นอกระเบียงคต ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ข้างๆมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีกำแพงล้อมรอบโบราณสถานสำคัญแหล่านี้ถึง 3 ชั้น
วัดพนัญเชิง
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตอนใต้ของเกาะเมือง สร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหารแบบมหานิกาย อยู่ในเขตปกครองของคณะสงฆ์ตำบลหอรัตนไชย
ภายในมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ คือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง หน้าตักกว้าง 20 เมตรเศษ สูง 19 เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุง แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด
คำว่า พแนงเชิง มีความหมายว่า นั่งขัดสมาธิ ฉะนั้น คำว่า วัดพนัญเชิง จึงหมายถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยนั้นเอง วัดนี้จึงมีผู้นิยมไปสักการะกันอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก
วัดมหาธาตุ
เป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดที่เก่าแก่และมีประวัติที่ไม่ค่อยจะชัดเจน บางฉบับบอกว่า ในปี พ.ศ. 1917 บางฉบับก็บอก พ.ศ. 1927 แต่อย่างไรก็ตาม ได้ใช้เวลาก่อสร้างไปเป็นจำนวนมาก ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระปรางค์เคยพังลงมาเกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ ปรางค์ของวัดนี้เดิมทีเดียวสร้างด้วยศิลาแลง แต่จะด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบ จึงยังมิได้ซ่อมแซมให้คืนดีดังเดิมในรัชกาลนั้น
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะใหม่ แต่ก็ได้พังทลายลงมาอีกรอบในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนคร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเป็นที่พำนักของ สมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีอีกด้วย วัดแห่งนี้จึงได้รับการก่อสร้างแล ดูแลตลอดเวลาจวบจนถูกทำลายลงหลังเสียกรุงครั้งที่ 2
เปิดให้เข้าชมทุก วันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท
วัดพระมงคลบพิตร
ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. 1991–2145 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันและโปรดเกล้าฯให้ก่อมณฑปสวมไว้
ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาเครื่องบนโทรมลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรขวาของพระมงคลบพิตรหัก รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ ด้านในมีพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด
สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯนั้นเอง
วัดมเหยงคณ์
สร้างในรัชกาลสมเด็จเจ้าสามพระยา เมื่อ พ.ศ. 1981 โดยสร้างเจดีย์ทรงระฆังอยู่บนฐานทักษิณ มีช้างล้อมเป็นประธานของวัดเจดีย์ช้างล้อมนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าคงเอาแบบอย่างมาจากพระเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราชในลักกาทวีป
ซึ่งทรงช้างชื่อกุลฑลทำสงครามได้ชัยชนะ ได้ครองราชสมบัติมีโอกาสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในลักกาให้รุ่งเรืองยิ่งในสมัยพระองค์ เจดีย์ช้างล้อมในลักษณะคล้ายกันนี้เคยพบมาแล้วที่เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ส่วนชื่อวัดมเหยงค์นั้นสันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามมหิยังคณะเจดีย์ในลักกาทวีป
วัดหน้าพระเมรุ
สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช 2046 มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ที่ตั้งของวัดนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น
มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2046 วัดหน้าพระเมรุตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำสัญญาสงบศึกเมื่อ พ.ศ. 2106 ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส
วัดนี้เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
วัดโลกยสุธาราม
สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง เนื่องจากวัดนี้มีพระพุทธไสยาสน์ ปางไสยาสน์ลักษณะสมัยอยุธยาตอนกลาง ก่ออิฐถือปูน พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ ที่พระเศียรมีดอกบัวรองรับ พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทยาวเท่ากัน มีความยาว 42 เมตร และสูง 8 เมตร
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ได้รับการขุดแต่งโดยโรงงานสุรา ร่วมกับกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2497 และต่อมาในปี พ.ศ. 2532 คุณหญิงระเบียบ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และครอบครัว ได้บูรณะพระพุทธไสยาสน์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ นาย ธำรง และ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี วัดนี้ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระราชวังหลวง และโรงเรียนประตูชัย ใกล้กับวัดวรโพธิ์ และวัดวรเชษฐาราม
วัดพระรามและบึงพระราม
คาดว่าถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1912 ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ซึ่งเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระราชบิดา แต่พระองค์ทรงครองราชได้เพียงแค่ปีเดียว จึงเข้าใจกันว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงได้ช่วยเหลือให้สร้างจนสำเร็จก็ได้ หรืออาจจะสร้างเสร็จเมื่อสมเด็จพระราเมศวรเสวยราชย์ครั้งที่ 2 ก็เป็นไปได้
สิ่งก่อสร้างได้แก่ พระปรางค์องค์ใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สูงแหลมขึ้นไปด้านบน ทางด้านทิศตะวันออก มีพระปรางค์องค์ขนาดกลางองค์ ส่วนทางตะวันตกทำเป็นซุ้มประตู มีบันไดสูงจากฐานขึ้นไปทั้งสองข้าง ที่มุมปรางค์ประกอบด้วยรูปสัตว์หิมพาน มีปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศเหนือ และ ใต้รอบๆปรางคืเล็กมีเจดีย์ล้อมรอบอีก 4 ด้าน และ วิหารใหญ่อยู่ทางตะวันออกของพระปรางค์ อยู่ด้านหน้าวัด
มีทางเดินต่อกับประปรางค์วิหารน้อย อยู่ทางด้านทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นวิหารที่มีด้านหลัง เชื่อมต่อกับเจดีย์ใหญ่ซึ่งหักพังไปแล้ว ปัจจุบันหลงเหลือไว้เพียงซากปรักหักพัง เหลือแต่พระปรางค์ กำแพงด้านหนึ่ง และ เสาในพระอุโบสถ วิหาร 7 หลัง
วังจันทรเกษม
หรือวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก (คลองคูขื่อหน้า) เป็นพระราชวังที่ปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2120 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยามเสด็จจากเมืองพิษณุโลกเพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยาพระราชวังแห่งนี้พระนเรศวรทรงใช้เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ. 2129 นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์
โบราณสถานโบราณวัตถุที่น่าสนใจในพระราชวังจันทรเกษม มีดังนี้กำแพงและประตูวัง เดิมมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เพราะขุดพบรากฐานของพระที่นั่งนอกกำแพงวัดด้านใน และพบซากอิฐ ในบริเวณเรือนจำหลายแห่ง พลับพลาจตุรมุข เป็นพลับพลาเครื่องไม้ ตั้งอยู่บนศาลาใกล้ประตูวังด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งพิสัยศัลยลักษณ์ (หอส่องกล้อง) เป็นหอสูงสี่ชั้นอยู่ที่ริมพระราชวังด้านทิศตะวันตก ทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดาว พระที่นั่งพิมานรัตยา ป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวัง เคยเป็นที่ตั้งศาลากลางมณฑลและจังหวัดมาหลายปี ปัจจุบันแสดงพระพุทธรูป เทวรูป พระพิมพ์สมัยต่างๆ และเครื่องไม้จำหลักสมัยอยุธยา
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์ อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
พระราชวังหลวง
เป็นพระราชวังหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งออกได้ดังนี้ พระที่นั่งวิหารสมเด็จเป็นปราสาท ยอดปรางค์มีมุกหน้าหลังยาวแต่มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม 2 ด้าน ตามพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้าง เมื่อ พ.ศ. 2186 พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลง อยู่ติดกำแพงริมน้ำ ก่อสร้างเป็น ปราสาทจตุรมุขยกพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ ใช้เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ทางน้ำ
พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทเป็นปราสาท ยอดปรางค์ตั้งอยู่ตรงกลางสร้างแบบเดียวกันกับ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีมุขเด็จยื่นออกมา เพื่อเสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกกระหนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีความสวยงามมาก พระที่นั่งทรงปืน อยู่ริมสระด้านตะวันตก ใกล้พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ สร้างเป็นรูปยาวรี น่าจะใช้เป็นที่ฝึกซ้อมเพลงอาวุธ และในสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง พระที่นั่งตรีมุข อยู่ข้างหลังพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เข้าใจว่าเดิมเป็น พระที่นั่งฝ่ายใน และเป็นที่ประทับในอุทยาน
พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในหน้าพระราชวัง เป็นที่สำหรับทอดพระเนตร กระบวนแห่และฝึกซ้อมทหาร เหมือนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ (พระที่นั่งท้ายสระ) เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ สมเด็จพระเพทราชา โปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับสำราญพระราชหฤทัย เมื่อ พ.ศ. 2231 และได้เสด็จประทับตลอดรัชกาล มีพระแท่นสำหรับทอดพระเนตรปลาที่ทรงเลี้ยงไว้ในสระนั้นด้วย
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสามพระยา
เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งแรกของไทยที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500
สิ่งที่น่าสนใจภายในอาคารได้แก่ พระพุทธรูประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีที่เคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูป นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งเพราะในโลกมีเพียง 6 องค์เท่านั้น ต่อมาเศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยอู่ทอง มีขนาดใหญ่มาก ได้จากวัดธรรมมิกราช แสดงถึงความเก่าแก่ ของวัด และฝีมือการหล่อวัตถุ ขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ และสุดท้าย เรือนไทยโบราณ ภายในเรือนไทยจะแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันในสมัยก่อน เช่น ห้องครัว ห้องนอน ระเบียงนั่งเล่น ฯลฯ
เปิดทำการตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมการเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างชาติ คนละ 30 บาท
ปางช้าง (แลเพนียด)
ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2540 โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมศิลปากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เดิมได้ตั้งชื่อว่า ปางช้างอยุธยา แล เพนียด และได้เปลี่ยนชื่อ ใหม่เป็น วังช้างอยุธยา แล เพนียด เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของและสถานที่ ที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเป็นพื้นที่มรดกโลก
คำว่า แล หมายถึง แลมอง แลเห็น แลดู เป็นคำโบราณ เพนียด หมายถึง โบราณสถาน เป็นที่ จับช้างโบราณ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ความหมายรวม คือ เป็นสถานที่ทำงานของช้าง และดูแล ได้รวบรวมช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์คู่อยุธยามานานาน เพื่ออนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัสช้างไทย
พร้อมบริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีบริการขี่ช้างทุกวัน หมุนเวียนบริการนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.
หมู่บ้านโปรตุเกส
ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพ.ศ. 2054 โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบู- เคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกส ประจำเอเซีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส ซึ่งเป็นฑูตที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา
ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและ เป็นทหารอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา สร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชนปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็นคือ โบราณสถานซานเปโตรหรือโบสถ์ในคณะ โดมินิกันซึ่งเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทย มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องประกอบพิธีทางศาสนา นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมกันได้
พระราชวังบางปะอิน
เป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากเป็นที่ประสูติของพระองค์ บริเวณด้านในมีพระที่นั่ง พระตำหนัก และตำหนักต่างๆ ขึ้นมากมายเพื่อใช้เป็นที่ประทับรับรองพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงในโอกาสต่างๆ
ได้แก่ พระที่นั่งไอศวรรยทิพยอาสน์,พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร,หอวิฑูรทัศนา,พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ,พระที่นั่งวโรภาษพิมาน,หอเหมมณเฑียรเทวราช,วัดนิเวศธรรมประวัติ,อนุสาวรีย์พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์และเ จ้าฟ้าสามพระองค์หรือ อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์,อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม),สภาคารราชประยูร,เก๋งบุปผาประพาส
ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน (ไม่เว้นวันหยูดราชการ) ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น.อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท/เด็ก-นิสิต นักศึกษา (ในเครื่องแบบ) พระภิกษุ สามเณร 20 บาท/นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 50 บาท ผู้ที่ประสงค์จะเข้าชมโปรดแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
ปราสาทนครหลวง
สันนิษฐานว่า สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่มาสร้างเป็นที่ประทับก่ออิฐถือปูน ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในแผ่นดินนี้พระองค์โปรดให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทศิลาที่เรียกว่า “พระนครหลวง” ในกรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2147 มาสร้างใกล้วัดเทพจันทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีก แต่สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ด้วยประการใดไม่ปรากฏ
ต่อมาจึงมีผู้สร้างมณฑปและพระบาทสี่รอยขึ้นบนปราสาทนี้ ส่วนตำหนักที่สร้างข้างปราสาทนี้ได้ปรักหักพังหมดแล้ว ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นองค์ปราสาท เป็นพุทธสถานจตุรมุขทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 3 ชั้น ชั้นที่ 2 เป็นซุ้มระเบียงล้อมรอบ ชั้นบนมีมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
ในปี พ.ศ. 2523 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต. ช้างใหญ่ อ. บางไทร ในเขตที่ดินปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรม พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มุ่งฝึกงานช่างฝีมือแบบศิลปะไทยโบราณให้แก่เกษตรกรที่สนใจฝึกอาชีพ เป็นรายได้พิเศษจากช่วงที่ว่างจากงานเกษตร
โดยทางศูนย์ฯ มีผู้ชำนาญงานช่างแขนงต่าง ๆ มาฝึกสอน เมื่อสามารถผลิตงานได้แล้ว ศูนย์ฯ จะรับซื้อผลงานไปจำหน่าย เปิดอบรมศิลปาชีพรุ่นแรกเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2524 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2527
ปัจจุบันมีกว่า 20 แผนก เช่น แผนกตัดเย็บเสื้อผ้า แผนกทอผ้าลายตีนจก แผนกเครื่องเรือนไม้ เป็นต้น อบรมปีละสองรุ่น รุ่นละ 500 คน ใช้เวลาอบรม 6 เดือน โดยให้ที่พัก อาหาร สวัสดิการ และเบี้ยเลี้ยง ผลงานที่ผลิตได้นอกจากจะจำหน่ายที่ศูนย์ฯ แล้ว ยังส่งไปจำหน่าย ที่ร้านจิตรลดาซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ และส่งออกต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ภายในบริเวณศูนย์ฯยังมีโซนอื่นที่น่าสนใจอีก เช่น หมู่บ้านศิลปาชีพ,สวนนก,วังปลา,ชมขั้นตอนการผลิตงาน,ซื้อผลิตภัณฑ์
เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 08.30–16.30 น. วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30–17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถไฟเล็กได้โดยไม่เสียค่าบริการ
อาหารขึ้นชื่อในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หากมีโอกาสได้แวะมาเยือนยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วเป็นต้องไม่พลาดที่จะได้มาลองลิ้มชิมรสอาหารขึ้นชื่อของที่นี้แน่นอน เพราะที่นี้มีอาหารอร่อยขึ้นชื่ออยู่หลายอย่างด้วยกัน โดยหลักๆแล้วที่ขาดไม่ได้อย่างยิ่งเลยคือเมนู “กุ้งแม่น้ำเผา” ซึ่งจับได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา กุ้งแม่น้ำที่จับได้จะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำทำให้กุ้งมีรสชาติอร่อยนั่นเอง
ต่อมา “ก๋วยเตี๋ยวเรือ” ก็เป็นอีกหนึ่งอาหารขึ้นชื่อของอยุธยา ร้านก๋วยเตี๋ยวเรืออร่อยๆ มีอยู่ทั่วเกาะเมือง เป็นที่ถูกอกถูกใจของเหล่านักชิมทั้งหลาย รวมถึงผู้คนที่นี้อีกด้วย
และสุดท้าย “โรตีสายไหม” ด้วยแป้งโรตีที่นุ่มลิ้น หอมละมุน ผสานกับน้ำตาลเส้นละเอียดดั่งปุยเมฆ ทำให้โรตีสายไหมของที่นี้มีชื่อเสียงและเป็นของฝากสุดแสยจะอร่อยของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใครมาเป็นต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านแน่นอน